รีวิวป.โท นิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ดิจิทัล ม.เกษตรศาสตร์ [CAI.KU]

จำได้ว่าตอนหาข้อมูลสมัครเรียนต่อป.โท กับสิ่งที่เราอยากรู้ มันไม่ค่อยมีข้อมูลจากคนที่เรียนจริงๆ สักเท่าไหร่ ดังนั้นบล็อกนี้ผมขอรีวิวประสบการณ์ชีวิตนิสิต ป.โท ม.เกษตร ในสาขาที่ผมกำลังศึกษาต่ออยู่แบบจัดเต็ม เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจจะคิดเรียนต่อ ป.โท นิเทศฯ ม.เกษตรครับ

รีวิวเรียนป.โท นิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ม.เกษตร

หลักสูตรนิเทศศาสตร์ดิจิทัล ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลักสูตร ป.โท ที่เค้าพึ่งปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับยุคดิจิทัลครับ เป็นรุ่นแรกที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “นิเทศศาสตร์ดิจิทัล” แต่เป็นรุ่นที่ 12 ของสาขานี้ ซึ่งถ้าดูจากรายวิชาที่ต้องเรียน ก็จะมีชื่อวิชาใหม่ๆ รวมถึงเนื้อหาในรายวิชาอื่นๆ ที่เน้นในเรื่องการสื่อสารดิจิทัล แต่ก็จะมีวิชาเบื้องต้นของนิเทศศาสตร์ให้ได้ปรับพื้นฐานกันด้วยครับ

ผมไม่ขอลงรายละเอียดในวิชาเรียน เพราะสามารถดูโครงสร้างหลักสูตรและรายละเอียดวิชาเรียนต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ของภาควิชา CAI  แต่ส่วนตัวผมชอบวิชา Data Analytics กับ Digital Marketing เพราะเนื้อหาที่เรียนมันทันสมัยและเอามาใช้ในการทำงานได้ดีมากๆ

ส่วนวิชาเลือกนั้นภาควิชาก็จะให้นิสิตได้โหวตกัน และเปิดวิชานั้นมาสอนในเทอม 2 ครับ (เราไม่ต้องลงทะเบียนเอง มีเจ้าหน้าที่ช่วยลงให้คร้าบ)

ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์

3 เหตุผลที่ผมเลือกให้ตัวเองเรียนต่อที่นี่

  1. เดินทางสะดวก เรื่องนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะเราต้องเข้ามาเรียน 2-3 วัน/สัปดาห์ ถ้าเดินทางมาง่าย ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้ที่พักก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการเดินทางมากนัก (แต่ย้ำอีกทีว่าวันศุกร์เย็นแถวบางเขนรถติดมากค้าบ)

  2. ค่าเทอม ป.โท ม.รัฐบาลที่สบายกระเป๋า มี คชจ. “แบบเหมาจ่าย” อยู่ที่ 2 แสนนิดๆ ตกแล้วอยู่ที่ 51,765 บาท/เทอม สามารถแบ่งจ่ายค่าเทอมเบาๆ เป็นรายเดือนได้ 17,300x3  เดือน ก็จ่ายผ่านระบบทางออนไลน์ด้วย QR Codeแต่เอาจริงๆ ระบบหน้าเว็บยังคร่ำครึอยู่เพราะดูผ่านมือถือต้องถ่างแล้วถ่างอีก และหาอะไรไม่ค่อยเจอเพราะ UX/UI ห่วยจริง และแต่ละอย่างหน้าตาคนละจักรวาล

  3. ความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยรัฐบาลอันดับต้นๆ ของประเทศ เอาจริงๆ เหตุผลข้อนี้ก็ยังไม่มั่นใจมากนัก เพราะไม่ได้การันตีถึงคุณภาพของหลักสูตรกับความรู้ที่เราจะได้ แต่ก็คาดหวังไว้ว่าการมีนามสกุลสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับพ่วงท้าย รวมกับประสบการณ์สายวิชาชีพมาหลายปี จะช่วยให้มีตัวเลือกได้กว้างขึ้นหลังจากเรียนจบ
บรรยากาศการเรียนการสอน ป.โท

การทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) และวุฒิปริญญาโท

สำหรับเกณฑ์การจบหลักสูตร ป.โท นิเทศศาสตร์ดิจิทัล เราจะต้องเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ และได้เกรดเฉลี่ย GPA. ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ แล้วก็จะต้องทำ “วิทยานิพนธ์” เพื่อเผยแพร่ทางวารสารวิชาการ หรือตีพิมพ์ในงานประชุมวิชาการก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยครับ

ข้อนี่แหละที่ผมก็ยอมรับว่าหนักใจที่สุด เพราะเคยเรียนป.โท สมัยทำงานใหม่ๆ ยอมรับว่า ตอนนั้นยังไม่พร้อมทั้งเวลา และความไม่พยายามอย่างเต็มที่ของเรา ทำค้างอยู่แค่ 3 บท และก็ทำต่อไม่ทันจนได้! ทั้งที่เก็บหน่วยกิตครบหมดแล้ว... ครั้งนี้เลยตั้งใจมากที่จะทำให้ได้ครับ

วุฒิปริญญาโทที่เราจะได้รับหลังเรียนจบ คือ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล), ศศ.ม. (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล) / Master of Arts (Digital Communication Arts), M.A. (Digital Communication Arts)  ซึ่งสิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของการเรียน ป.โท กับ ป.ตรี ก็คือ การทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งด้านทฤษฎีใดๆ และ Critical Thinking โดยใช้การคิดวิเคราะห์จะเยอะกว่าปริญญาตรี

ข้อดีมากๆ คือ ทำให้เราจะเข้าใจข่าวและกระแสโลกที่เกินขึ้น โดยปล่อยวางมากขึ้นมากๆ จากสารพัดทฤษฎีนั่นแหละ

การนำเสนองานหน้าห้องเรียน

อาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตร ป.โท

ตอนแรกก็แอบหวั่นๆ ใจเรื่องอาจารย์ที่จะมาสอนเราอยู่ไม่ใช่น้อย แต่พอได้มาเรียนบอกได้เลยว่าอาจารย์ที่สอนน่ารักทุกท่านเลยคร้าบ. อาจารย์ที่สอนเราทุกท่านจะเป็นอาจารย์ประจำภาควิชา ซึ่งอาจารย์เค้าก็จะมีงานสอนสอนทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ส่วนใหญ่ ก็จะจบ ดร. และมีตำแหน่งทางวิชาการเกือบทุกคน

นอกจากอาจารย์ประจำวิชาที่เป็นผู้สอนเราเองแล้ว ก็จะมีวิทยากรมาบรรยายพิเศษด้วยเป็นครั้งคราวแล้วแต่รายวิชาครับ… เทอมที่ผ่านมาผมก็เห็นว่ามี Guests ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถให้ความรู้กับพวกเราหลายท่านอยู่ ต.ย.อย่างเช่น คุณหนุ่ย การตลาดวันละตอน มาบรรยายพิเศษเรื่อง Data Analytics 

อาจารย์ผู้สอนภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ 

การใช้งาน Online และอีเมล์ของนิสิต

หลังจากเป็นนิสิตเรียบร้อย เราจะได้อีเมลชื่อเรา @ku.th เอาไว้ใช้งานครับ เป็นหน้าตาอีเมลเป็นของ GMAIL  และก็จะมีอีเมลอีกอันที่เป็นของไมโครซอฟต์ @live.ku.th ที่ให้เราเอาไว้ใช้บริการต่างๆของ Microsoft เช่น office 360 ก็ใช้ได้จาก account ของมหาวิทยาลัยครับ

ดังนั้นเราก็จะมีทั้งแอคเค้าทั้ง KU-Login ของมหาลัย (ใช้กับระบบสารสนเทศนิสิตและมหาลัย) + อีเมล GMAIL + อีเมล Live รวมถึงห้องเรียนของเราก็ยังมี WIFI ของมหาลัยให้ใช้ฟรี (แต่ต้อง set-up MAC Address ในระบบ) หรือถ้าใครใช้ AIS WIFI ก็มีสัญญาณแรงๆ ให้ใช้กันด้วยครับ

เอกสารประกอบการสอนของอาจารย์จะถูกส่งผ่าน Google Classroom

นอกจากนั้นก็ยังมีระบบ Online สำหรับนิสิต ที่เราต้องใช้การลงทะเบียน, จ่ายเงินค่าเทอม, ดูเกรด ฯลฯ แต่ๆ อย่างที่บอกไป

แต่หน้าตาก็จะประมาณรูปด้านล่างที่ไม่ Support การเข้าผ่านมือถือใดๆ ทั้งเมนูและข้อความก็จะละลานตาที่ไม่ได้ผ่านการคิด UX/UI อย่างที่เห็น.. 

มีแอปฯ ด้วยนะ แต่เหมือนจะไม่ค่อยได้ใช้ครับ มันใช้ยาก หลายเมนูใช้ไม่ได้ และไม่ practical เท่าไหร่

ระบบสารสนเทศน์นิสิต ม.เกษตร


แต่ก็ยังดีที่มหาลัยมีสวัสดิการด้านซอฟต์แวร์ให้ใช้ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น Software Anti Virus หรือ Software ตระกูล Adobe ต่างๆ ให้เราได้ (ยืม) ใช้กันด้วย ผมก็ยืมมาใช้เหมือนกันนะ ของลิขสิทธิ์ฟรี ก็ดีกว่าของเถื่อนที่อัพเดทอะไรไม่ได้เลย ซึ่งวิธีการก็ค่อนข้างจะยุ่งยากหน่อย แต่ก็มี tutorials วิธีการดาวน์โหลดและติดตั้งให้ครับ


เอกสารประกอบการเรียนการสอน

เอกสารทั้งหมดของอาจารย์จะถูกส่งมาทาง Google Classroom ครับ เช่น พวกไฟล์สไลด์ พาวเวอร์พอยท์ต่างๆ จะเป็น e-doc ทั้งหมด หรือบางท่านถนัด Facebook/LINE เค้าก็จะตั้งกรุ๊ปเพื่อส่งไฟล์กันทางนั้นก็แล้วความสะดวกของคนสอน... ถ้าใช้ iPad ก็จะสะดวกมากๆ สมัยตอนผมเรียนป.ตรี มีแต่ชีสและหนังสือ เรื่องนี้เลยเป็นเรื่องใหม่และสะดวก ลดโลกร้อน

เกณฑ์การสอบภาษาอังกฤษ KU-EPT

หนึ่งในเกณฑ์บังคับก็คือ ต้องยื่นคะแนนภาษาอังกฤษด้วยนะ.. (เข้ามาเรียนก่อนค่อยยื่น) แต่ถ้าคะแนนไม่ผ่าน ก็ต้องลงเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มอีก 1 ตัว ที่แนะนำคือ คะแนน KU-EPT  เพราะค่าสอบไม่แพง และสอบสะดวกที่มหาลัย’ ซึ่งต้องได้คะแนนมากกว่า 50 คะแนนขึ้นไป จาก 100 คะแนนคร้าบ (ส่วนตัวผมผ่านมาอย่างฉิวเฉียด.. ไชโย)

เพื่อนๆร่วมรุ่น CAI 12

ตึกเรียนนิเทศศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ ใน ม.เกษตร 

ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์มีตึกเล็กๆ 2 ชั้นเป็นของตัวเองด้วยจ้า อาคารนี้ชื่อ “กัญจนานิทัศน์” หรืออาคารมนุษย์ศาสตร์ 3 ตึกนี้จะอยู่ในบริเวณตึกของคณะมนุษย์ฯ นี่แหละ จารย์เล่าให้ฟังว่าตึกนี้เป็นตึกเก่าที่เค้าเอาไว้เก็บโหลดองสัตว์ (เหมือนจะมีผีด้วยนะ แต่ก็ยังไม่เคยเจอ)

ตึกของเรานี้ก็จะมีห้องเรียน ห้องพักอาจารย์ ห้องทานข้าวอาจารย์ ห้องสำนักงานของภาควิชา และห้องน้ำในตัวที่สะอาดตลอดเพราะมีแม่บ้านประจำตึกดูแล เราก็จะเรียนกันชั้น 2 ซึ่งมีห้องเรียนแค่ 1 ห้อง (เรียนห้องเดิมก็มีแอบเบื่อเหมือนกันนะ)

ตึกเรียนนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์

ห้องเรียน สาขานิเทศศาสตร์ดิจิทัล

รุ่นผมได้เรียนแบบ On-Site 100% แล้ว ซึ่งก็ต้องเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยทุกวิชา.. เรื่องห้องเรียนของที่นี่ อาจจะเป็น Weakness เล็กน้อย เพราะรู้สึกว่าห้องเรียนไม่ทันสมัยเท่าไหร่ ทั้งโต๊ะเรียน ทั้งสภาพห้องและอุปกรณ์ใดๆ ยังดู Old School (แต่แอร์หนาวมากนะ)

ด้วยความที่ห้องจุเต็มที่ได้ประมาณ 30 คน แต่พวกเรามีกัน 14 คนก็เลยนั่งกันอย่างหลวมๆ แถวนึงนั่งกัน 2 คนอย่างเหงาๆ แต่ก็ได้นั่งเรียนแบบ Social Distancing ในยุคโควิด ซึ่งเอาจริงๆ ทำงานกลุ่มก็แทบจะสุมหัวกันอยู่แล้วคร้าบ

ห้องเรียน ป.โท ของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล

"เราเรียนกันวัน เสาร์ - อาทิตย์ ในเทอม 1 ทั้งวัน ส่วนเทอม 2 มีเรียนวันศุกร์ค่ำด้วย มีเรียนออนไลน์กันบ้างเป็นครั้งคราว เช่น Make up class หรือเรียนเสริม มีปิดเทอมประมาณ 1 เดือน"

ส่วนด้านล่างตึกเรียนจะเป็นโต๊ะประจำของพวกเราคร้าบ เอาไว้นั่งรอเพื่อน กินข้าวกลางวัน กินขนม กินกาแฟ ทำการบ้าน ฯลฯ มีน้องๆ นิสิต ป.ตรี มานั่งกันอยู่บ้างนิดหน่อยนานๆที.. เพราะพวกเราจะมาเรียนกันเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และศุกร์ก็มาค่ำแล้ว คนก็เลยดูโล่งๆน้อยๆ เหงาๆ ประมาณรูปด้านล่างนี้ครับ

บรรยากาศด้านล่างของตึกเรียน

บรรยากาศการเรียนการสอนของ CAI.

ยากบ้าง ง่ายบ้าง สนุกบ้าง ง่วงบ้าง สลับกันไป.. คาบนึงประมาณ 3 ชั่วโมง การสอนของอาจารย์ก็จะเป็นการบรรยายเนื้อหาประกอบสไลด์ เราก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งฟัง โดยจะมีกิจกรรมกลุ่มบ้าง เดี่ยวบ้าง เสนอความคิดเห็นบ้าง ทำเวิร์คช้อปกันบ้าง ก็แล้วแต่สไตล์อาจารย์ผู้สอนแต่ละท่าน (อ๋อ บางวิชามีอาจารย์ 2-3 ท่านสอนในหัวข้อที่แตกต่างกันก็ด้วยเช่นกันครับ)

ส่วนเรื่องการบ้านและงานต่างๆ ของ ป.โท ก็มีให้ทำชิ้นเล็กบ้าง และชิ้นใหญ่บ้างตามมูลค่าคะแนน.. แต่อาจารย์เค้าบอกเองว่าจะพยายามไม่ให้การบ้านพวกเราเยอะ จะเน้นให้ทำงานจบในห้องเรียนมากกว่า เพราะเค้าเข้าใจว่าส่วนใหญ่เราทำงานประจำกัน.. เอาจริงๆ บางวิชาก็จำเป็นต้องมี เพราะข้อดีก็คือเราจะได้ทบทวนหลังเรียนไปด้วย (แต่มีทุกวิชาก็ม่ายไหวจ้าาา)

และที่สำคัญเลยก็คือ “งานการนำเสนองานหน้าห้อง” ที่ทำให้ทุกคนได้ฝึกการพูด การเรียบเรียงความเข้าใจ เพื่อที่จะอธิบายแนวความคิดของตัวเองให้เพื่อนๆ และอาจารย์ฟังได้ งานนำเสนอแบบเดี่ยวก็มี นำเสนองานกลุ่มที่ต้องแบ่งกันกันพูดก็มีคร้าบ มีทุกแนวเลยครับ

บรรยากาศบริเวณตึกเรียนคณะมนุษยศาสตร์

การตัดเกรดและการประเมินผลการเรียน

การให้เกรดของอาจารย์ก็จะมีทั้งตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ และอิงกลุ่มซึ่งอาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละรายวิชาครับ โดยคะแนนก็จะมาจากคะแนนเก็บ การเข้าห้องเรียน การมีส่วนร่วมในห้องเรียน งานที่ต้องส่ง และก็มีสอบ FINAL ด้วย หรือบางวิชาก็ไม่มีสอบปลายภาค แต่จะมีงานชิ้นใหญ่ให้ เช่น Final Project หรือการนำเสนอผลงานวิชาการครับ

จากประสบการณ์ส่วนตัวผมพอจะสรุปได้ว่า คะแนนเก็บส่วนใหญ่ก็จะไม่ต่างกันมากเท่าไหร่สำหรับคนที่มาเรียนและส่งงานสม่ำเสมอ แต่คะแนนที่จะทำให้เกรดได้ต่างกันเลยก็คือ คะแนนสอบ FINAL ครับ และการสอบ FINAL ทั้งหมดจะเป็นแบบเขียนทุกวิชา ที่จำได้แม่นเลยคือ "โจทย์ 3-4 บรรทัด แล้วให้สมุด 8 หน้า 1 เล่มมาให้เราเขียนตอบ!" โหดแค่ไหนคิดดูแล้วกัน... (พอเขียนจริงๆ รู้เลยว่าบางโจทย์แค่ 8 หน้า.. น้อยไป)

เกณฑ์การตัดเกรด ป.โท นิเทศสาสตร์ดิจิทัล

ห้องคอมพิวเตอร์ที่แว๊บไปเรียนบ้าง 3-4 ครั้ง

ห้องคอมพิวเตอร์ของคณะมนุษย์จะอยู่ติดกับตึกที่เราเรียนครับ มีบางวิชาที่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องคอมฯ ด้วยเป็นบางครั้งคราว เช่น การวิเคราะห์ดาต้าผ่านโปรแกรมต่างๆ, การเรียน SPSS ของวิชาสถิติที่ต้องใช้ทำวิทยาพิพนธ์ 

เพื่อนร่วมห้องเรียนระดับ ป.โท

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่เราไม่รู้อะไรเลยตอนสมัคร.. จะรู้จักกันก็ตอนวันปฐมนิเทศน์ละ รุ่นผมมีทั้งหมด 14 คน ส่วนตัวคิดว่ามีความ Diversity ค่อนข้างสูง มีตั้งแต่ จบ ป.ตรีแล้วเรียนต่อเลย ไปจนถึงเจ้าของบริษัทก็มี ทำราชการก็มี ทำงานเอกชนก็มี ซึ่งเฉลี่ยอายุน่าจะประมาณ 25-35 สูงสุด 45 และความหลากหลายนี่เองที่จะฝึกให้เรา "เข้าใจ" ความแตกต่างได้เป็นอย่างดี

ส่วนภาคปกติของสาขานี้ก็มีครับ เรียนวันธรรมดาซึ่งค่าเทอมก็จะถูกกว่า... แต่เท่าที่สัมผัสมาได้คือ ส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆ ที่พึ่งจบ ป.ตรีกัน เลยคิดเองว่าอาจจะไม่น่าเหมาะกับคนทำงานแล้ว.. แต่ถ้าใครสะดวกวันธรรมดาและอย่างจ่ายค่าเทอมในราคาประหยัดกว่าก็สามารถเรียนเป็นภาคปกติได้เหมือนกัน เพราะอาจารย์และการสอนก็เหมือนกับภาคพิเศษทั้งหมด ต่างกันแค่วันเรียนแค่นั้น

บรรยากา่ศการเรียนในห้องเรียน

ในมุมผมมองว่าโชคดีมากๆ ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นที่น่ารักทุกคนเลย พอได้เจอกับบ่อยขึ้น บ่นเรื่องทำการบ้านด้วยกันมากขึ้น ก็เริ่มสนิทกันมากขึ้น ชวนกันไปไหนต่อไหนกันบ่อยขึ้น โดยรุ่นผมมี “คุณแม่” อยู่ 1 คน ที่เป็นผู้อาวุโสที่สุด ก็เหมือนเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองไปด้วยในตัว

ซึ่งทุกคนก็พยายามช่วยกันเรื่องเรียนเรื่องการบ้านเรื่องงานในห้องกันเท่าที่จะช่วยได้ โดยเฉพาะน้องกิ๊ฟที่ทำทุกอย่างให้แม่แล้ว “เสื้อประจำรุ่น” ของพวกเรานี่ก็ได้แม่ม่อนเป็นผู้ใหญ่ใจดีออกค่าใช้จ่ายในการผลิตและแจกทั้งพวกเราและอาจารย์ทุกคนเป็นของขวัญปีใหม่

กิจกรรมของมหาวิทยาลัย

กิจกรรมของโปรแกรมฯ และของมหาลัย'เกษตร

สถานะความเป็นนิสิตทำให้เราได้ร่วมกิจกรรมของมหาลัยได้ทุกอย่างเลย ก็อยู่ที่ว่าเราจะให้เวลาให้มันไหม อย่างปีที่ผมกำลังเรียนอยู่มีงานวิ่งครบรอบ 80 ปี ก็ทำให้พวกเราได้ไปร่วมกิจกรรมกับเค้าด้วย ของสาขา ป.โทเองก็มีไปดูงานกันนะ เห็นว่าแค่ในประเทศนี่แหละ 

อิ่มทุกมื้อก่อนเข้าเรียนและช่วงพัก

สวัสดิการด้านอาหารและขนมฟรี

เรื่องนี้ไม่เล่าไม่ได้.. เพราะไม่รู้มาก่อนว่าเรามีสวัสดิการอาหารด้วยนะ ทั้งอาหารมื้อเที่ยงของวันเสาร์-อาทิตย์ และ อาหารมื้อเย็นของวันศุกร์ แต่ละมื้อก็จะมีความหลากหลาย อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง สลับผัดเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ถ้าเจอเจ้าไหนถูกปากเราก็จะบอกเจ้าหน้าที่ประจำภาคว่า “เอาเจ้านี้บ่อยๆ” นะคร้าบ... หลังๆเลยได้โออิชิมาแทน เย่ 

รวมถึงที่หน้าห้องเรียนก็มีกาแฟ 3-in-1 มีตู้กดน้ำร้อน-น้ำเย็นบริการด้วย บางครั้งก็มีขนมอร่อยๆ มาวางบ้าง มีขนมปี๊บมาวางบ้าง ขนมห่อมาวางบ้าง ถ้ามี Rare Item มาวางเมื่อไหร่ แป๊บเดียวก็เกลี้ยงจ้า (อาจารย์ที่น่ารักนี่แหละชอบแอบเอาขนมมาวางไว้)

สวัสดิการอาหารกลางวันฟรี

ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขนมของกิน

โอ้โห้.. เรื่องของกินนี่ไม่ต้องเป็นห่วงเลย ในมหาลัยมีร้านกาแฟเพียบ... ทั้งสตาร์บัค, อะเมซอน, เนสกาแฟคาเฟ่, Specialty Coffee Cafe ฯลฯ ล่าสุดมีตู้เต่าบินที่ตึกเราแล้วด้วย… ร้านขนมของกินช่วงหิวที่พวกเราฝากท้องกันบ่อยๆ จะเป็นร้านชื่อ “บาร์ไก่” เดิน 10 ก้าวก็ถึง

แต่ๆ ถ้าอยากเดินออกกำลังกายหน่อย ก็เดินไปไกลอีกนิด เช่น ไป 7-11 ที่บาร์ใหม่ หรือไป ศูนย์อาหารตึกวิศวะ (มีร้านเครปอร่อย และเด็กๆ หน้าตาดีเป็นอาหารตาอาหารใจ) บาร์ใหม่ ที่เป็นศูนย์อาหารใหญ่ของ ม.เกษตร ที่มีอาหารและขนมอร่อยเยอะมาก ราคาไม่แพงด้วย

สตาร์บัคที่ต้องเดินไกลนิดนึง

ระบบรายงานเกรดออนไลน์

เอาจริงๆ ตอนเกรดออกผมนี่ลุ้นมาก เพราะเราก็ตั้งใจเรียนและตั้งใจสอบมากๆ ลึกๆแล้วก็แอบหวังว่าเราขอเกรดดีๆ เป็นรางวัล.. สรุปเกรดทุกตัวออกมาได้ 4.00 จริงๆ ซึ่งในรุ่นผมมี 2 คนที่ได้มาคร้าบ บอกเคล็ดลับตรงนี้คือ ต้องแม่นเรื่องความเข้าใจในเนื้อหา (ไม่เน้นท่องจำสักเท่าไหร่.. แต่ก็อาจจะต้องจำหลักการบ้าง) และต้องมีการประยุกต์นำมาเขียนตอบในการสอบ FINAL ให้ได้นั่นเองครับ

เพราะเรื่องการเขียนข้อสอบของแต่ละคนนี้แหละ ที่อาจารย์เค้าจะให้คะแนนความแตกต่างได้ชัดเจนที่สุดนะครับ

ระบบรายงานเกรดเฉลี่ยของนิสิต

ส่วนตัวผมจบนิเทศฯ เอกโฆษณา จาก ม.กรุงเทพคับ พื้นฐานด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารยังคงพอจำได้อยู่.. แต่ที่จะเป็นประโยชน์และช่วยในเรื่องเรียนได้ดีมาก คือ ประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารการตลาดอีเวนท์และดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในเอเจนซี่โฆษณามาหลายปี

สมัครเรียน หรือดูรายละเอียดที่เว็บไซต์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล

สุดท้ายนี้หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับทุกคนที่กำลังหาข้อมูลการเรียนต่อในหลักสูตรปริญญาโท (ภาคพิเศษ) สาขานิเทศศาสตร์ดิจิทัล ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ (CAI.) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นะครับ และหวังว่าจะได้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันนะคร้าบ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รีวิวเสริมจมูกผู้ชายที่ Goodwill Clinic สไตล์เกาหลี โดยหมอณัฐออกแบบให้ด้วย Mantis รุ่นพิเศษ

รีวิว Spring Airlines สายการบินโลคอสของจีน กับการบินไปเที่ยวเมืองจีนครั้งแรกด้วยสายการบินนี้

เทคนิค 5 ข้อ การเตรียมเงินและใช้จ่ายเงินวอนก่อนเที่ยวที่ประเทศเกาหลีใต้